ฮาลาล หมายถึงการอนุมัติหรืออนุญาตให้มุสลิมบริโภคหรือใช้ประโยชน์ได้ตามหลักบัญญัติของศาสนาอิสลาม… “อุตสาหกรรมอาหารฮาลาล” จึงเป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่ประเทศผู้ส่งออกได้อย่างมหาศาล ปัจจุบันตลาดอาหาร “ฮาลาลโลก” มีการเติบโตค่อนข้างสูง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี เนื่องจากมีชาวมุสลิมทั่วโลกประมาณ 1,800 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 25 ของประชากรโลก

ทำให้ความต้องการบริโภคอาหารฮาลาลอยู่ที่ประมาณ 1.5-1.8 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ จึงทำให้เห็นศักยภาพการขยายตัวของตลาดดังกล่าวอย่างชัดเจน
แม้ “ประเทศไทย” จะไม่ได้เป็น “ประเทศมุสลิม” แต่ก็มีศักยภาพในการส่งออกอาหารฮาลาลไปขายยังตลาดโลก โดยคิดเป็นร้อยละ 0.18 หรือ 275 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ ภูมิภาคตะวันออกกลาง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอฟริกา และเอเชียใต้
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลดังกล่าวจึงได้จัดตั้ง “สถาบันฮาลาล” ขึ้นเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2552
เมื่อไม่นานมานี้ก็ได้มีการสรรหาผู้อำนวยการคนใหม่ ซึ่งสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้มีมติเห็นชอบแต่งตั้ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัสมัน แตอาลี ดำรงตำแหน่งนี้ โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อาลี สาเมาะ เป็นรองผู้อำนวยการ โดยเริ่มปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ บอกว่า ยุทธศาสตร์ด้านฮาลาลเป็นหนึ่งใน Flagship เป้าหมายที่มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก และพร้อมที่ จะสนับสนุนผู้อำนวยการสถาบันฮาลาลคนใหม่อย่างเต็มที่
“เราได้อนุมัติงบประมาณในการดำเนินงานด้านฮาลาลเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งผลักดันให้สถาบันฮาลาลเป็น ถังความคิดสำคัญในการขับเคลื่อนกิจการด้านฮาลาลของมหาวิทยาลัยสงขลา-นครินทร์และเสริมสร้างศักยภาพอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลของประเทศไทยต่อไป”
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 4 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านกิจการฮาลาลกับสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงกับพลตำรวจตรี สุรินทร์ ปาลาเร่ เลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย พร้อมกับพยานทั้งสองฝ่าย
นอกจากนี้ยังมีสมาพันธ์คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด 15 จังหวัดภาคใต้และสำนักงานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดสมุทรปราการ ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ด้วย
คำถามสำคัญมีว่า…การลงนามความร่วมมือครั้งนี้มีความสำคัญอย่างไร?

ผศ.ดร.อัสมัน แตอาลี บอกว่า เพื่อให้มีการทำงานไปในทิศทางเดียวกันและเกื้อหนุนกันเพื่อส่งเสริมงานด้านฮาลาลในไทยในภาพรวมให้มีความก้าวหน้า มีมาตรฐานน่าเชื่อถือมากขึ้น
“ความร่วมมือครั้งนี้จะครอบคลุมงานพัฒนาและเสริมสร้าง ศักยภาพอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล งานพัฒนากำลังคน งานวิจัยและนวัตกรรม งานบริการวิชาการ และงานอื่นๆที่จะเป็น ประโยชน์ต่อสังคม…ประเทศชาติ”
“สถาบันฮาลาล ม.อ.” มีภารกิจที่สำคัญ 4 ด้านด้วยกัน ได้แก่ (1) การพัฒนากำลังคนหรือบุคลากรด้านฮาลาล (2) การวิจัยและนวัตกรรมผลิตภัณฑ์และการบริการฮาลาล (3) การบริการวิชาการและพันธกิจเพื่อสังคม
(4) การสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับต่างประเทศลงลึกในรายละเอียดกันสักนิด ในด้านการพัฒนากำลังคนหรือบุคลากรด้านฮาลาล ผศ.ดร.อัสมัน ย้ำว่า เป็นงานที่จะมีการสร้างและพัฒนากำลังคนหรือบุคลากรด้านฮาลาล ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างมาก
“สถาบันฮาลาล” กำลังจัดทำหลักสูตรการจัดการระบบกิจการฮาลาล ซึ่งเรามีความพร้อมทางด้านนักวิชาการ งานวิจัย และนักวิทยาศาสตร์ ประกอบกับผู้เชี่ยวชาญจากคณะวิชาต่างๆในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ได้แก่ คณะวิทยาการอิสลาม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะอุตสาหกรรมเกษตร คณะวิทยาการจัดการ คณะแพทยศาสตร์ คณะการบริการและการท่องเที่ยว และหน่วยงานอื่นๆ
ตลอดจนความเชื่อมโยงกับหน่วยงานจากภายนอกมหาวิทยาลัย เพื่อมาร่วมจัดทำหลักสูตรนี้ คาดว่า…จะสามารถรับสมัครรุ่นแรกภายในต้นปี 2564
ด้าน…การวิจัยและนวัตกรรมผลิตภัณฑ์และการบริการฮาลาล จะเป็นงานที่ส่งเสริมงานวิจัยและนวัตกรรม ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านฮาลาลแก่ผู้ประกอบการและผู้สนใจ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน และการพัฒนาอย่างยั่งยืน…แน่นอนว่าจะทำให้เกิดการพัฒนาให้เกิดนวัตกรรม
สร้างความเข้มแข็ง…ความเชื่อมั่นในด้านมาตรฐานฮาลาลของประเทศไทย
ล่าสุด มีการแถลงข่าวเปิดตัว “ชุดทดสอบการปนเปื้อนสุกรในอาหาร”…ที่มีความสะดวกรวดเร็ว และมีความจำเพาะใช้งานง่าย ใช้เวลาในการอ่านผล…วิเคราะห์ผลไม่นานก็สามารถทราบผลภายใน 4-5 นาที
น่าสนใจว่า…ชุดทดสอบนี้ยังได้รับ 2 รางวัลจากการประกวดสิ่งประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์ ได้แก่ รางวัลเหรียญเงินในงาน International Exhibition of Inventions Geneva ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ปี 2560 และรางวัลเหรียญทองในงาน Kaizen Thailand Award ปี 2562 ถือเป็นผลงานร่วมกันระหว่างสถาบันฮาลาล อุทยานวิทยาศาสตร์และสำนักเครื่องมือวิทยาศาสตร์และการทดสอบ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

นอกจากนั้นยังมีโครงการวิจัย “มาตรฐานตอยยิบัน” ที่สถาบันฮาลาลได้เล็งเห็นถึงความสำคัญจะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างสถาบันฮาลาลกับคณะแพทยศาสตร์…..สถาบันวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาล
โดยเน้นการโภชนาการเพื่อสุขภาพ ตามวิถีมุสลิมต่อไปในอนาคต
ด้านอื่นๆเพื่อเสริมทัพความเข้มแข็ง “ฮาลาลประเทศไทย” ก็จะเป็นการบริการวิชาการ พันธกิจเพื่อสังคม การถ่ายทอดความรู้ด้านฮาลาล สู่ชุมชน อบรมระยะสั้นหลายหลักสูตรที่ตลาดต้องการ
อาทิ หลักสูตรกระบวนการผลิตอาหารฮาลาลและการขอรับรองมาตรฐานฮาลาล หลักสูตรการแปรรูปอาหารฮาลาล หลักสูตรการพัฒนาบรรจุภัณฑ์อาหารฮาลาล หลักสูตรธุรกิจฮาลาล หลักสูตรสร้างผู้ประกอบการสินค้าฮาลาลรุ่นใหม่ หลักสูตรสปาฮาลาล หลักสูตรเชฟฮาลาล หลักสูตรการบริการและท่องเที่ยวฮาลาล
แน่นอนว่า…ทั้งหมดเหล่านี้จะสามารถสร้างงานสร้างอาชีพให้กับประชาชนที่สนใจทั้งที่เป็น “มุสลิม” และ “ไม่ใช่มุสลิม” ทั้งยังกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้าให้มีรายได้ในครัวเรือนได้อย่างมั่นคงยั่งยืน…จากต้นน้ำถึงปลายน้ำ
ไม่นานคงได้เห็นบทบาทสำคัญของ “สถาบันฮาลาล ม.อ.” วันสต็อปเซอร์วิส…กับภารกิจสำคัญ สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศ นำจุดแข็งทั้งในและนอกมาผนวกเข้าด้วยกัน เพิ่มพลังขับเคลื่อนพัฒนากิจการ “อุตสาหกรรมฮาลาลประเทศไทย” ให้ยั่งยืนต่อไปในอนาคต.