ผลงานพุทธศิลป์ภาคใต้ ศาสนาพุทธผสมผสานกับมัสยิดของศาสนาอิสลาม

ผลงานพุทธศิลป์ภาคใต้ ศาสนาพุทธผสมผสานกับมัสยิดของศาสนาอิสลาม

 การดัดแปลงรูปแบบเจดีย์จุฬามณีของศาสนาพุทธผสมผสานกับมัสยิดของศาสนาอิสลามเกิดความเป็นเอกภาพของรูปแบบการจัดองค์ประกอบศิลป์ของรูปทรง และเทคนิคเชิงช่าง อันแสดงถึงสมาธิความสมดุล และการพึ่งพาอาศัย การอยู่ร่วมกันของคนในภาคใต้ ดังปรากฏจากภาพจิตรกรรมฝาผนัง วัดโคกเคียน จ.ปัตตานี

ภาพจิตรกรรมฝาผนัง วัดชลธาราสิงเห จ.นราธิวาส ที่แสดงการนับถือตามวัฒนธรรมท้องถิ่นและความเชื่อคติพราหมณ์ด้วยภาพการหามโลงศพ ซึ่งมีลักษณะเป็นพุ่มยอดพนมเตี้ย สัญลักษณ์แทนเขาพระสุเมรุ หรือภาพจิตรกรรมฝาผนัง วัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร จ.สงขลา ที่แสดงเรื่องราวที่มีความเป็นจริงตามสภาพแวดล้อม สังคม วิถีชีวิต ซึ่งปรากฏภาพสิ่งก่อสร้าง หอนาฬิกา ซุ้มประตู ภาพเรือขนส่งสินค้าชาวตะวันตกอยู่ในเนื้อหาหลักของภาพพุทธประวัติและทศชาดก

เทคนิคเชิงช่างการสลักหินแกรนิตเป็นเจดีย์หรือถะของศิลปะจีน โดยสั่งทำจากเมืองจีนแยกส่วน แล้วมาประกอบในไทย รูปทรง 6 เหลี่ยม 7 ชั้น สร้างในสมัยเจ้าพระยาสงขลา ซึ่งผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาคนที่ 2 เป็นผู้สร้าง (มีจารึกว่าสร้างสมัยรัชกาลที่1) เห็นได้จาก วัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร จ.สงขลา

ในความหลากหลายนี้ จึงเกิดเป็นหนังสือ พุทธศิลป์ในภาคใต้  โดยการสนับสนุนจากกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่ง ศาสตราจารย์สุชาติ เถาทอง ได้ให้คำนิยมไว้อย่างน่าสนใจว่า “จุดเด่นของหนังสือช่วยให้เห็นพลังการผสมผสานในพุทธศิลป์ของภาคใต้ ที่มีชีวิต มีความเติบโต พร้อมกับการสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีรากเหง้าของอัตลักษณ์ทางศิลปะอย่างแท้จริง”

รศ.ดร.สมพร สรุปให้ฟังว่า ความหลากหลายของศิลปวัฒนธรรมในภาคใต้นั้น ช่างในอดีตได้สร้างความเป็นเอกภาพด้วยการให้มีศูนย์รวมทางความเชื่อทางศาสนา และให้ความสำคัญเท่าเทียมกันโดยมีศาสนาพุทธเป็นหลักแกนกลางในการแสดงออกของผลงานพุทธศิลป์ ด้วยการสร้างสรรค์การจัดองค์ประกอบของรูปภาพและเนื้อหาที่แสดงถึงการอยู่ร่วมกัน และสอดแทรกเรื่องราวปริศนาธรรมอันจะเป็นหลักคิดเตือนใจให้เห็นว่า “แม้จะมีความแตกต่างหลากหลาย แต่ก็อยู่ร่วมกัน และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้บนพื้นแผ่นดินไทย” และอยากเชิญชวนให้มาศึกษาและท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของภาคใต้ มาสัมผัสการแสดงออกคุณค่าความงาม และเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ ชวนให้ตีความหมาย นับเป็นเสน่ห์ความงามอันมีคุณค่าและน่าสืบทอดต่อไป