ผู้พิพากษาหญิงคนนี้เป็นผู้ชี้ชะตาว่าชายมาเลเซียจะมีภรรยาได้อีกคนไหม

กฎหมายชารีอะห์หรือกฎหมายอิสลาม มักถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีทัศนคติสุดโต่งและมีบทลงโทษรุนแรงเกินไป เน็นนีย์ ชูไฮดาห์ ผู้พิพากษาหญิงในศาลชารีอะห์คนแรก ๆ บอกว่า ตำแหน่งนี้ให้โอกาสที่เธอที่จะปกป้องผู้หญิงในมาเลเซียซึ่งประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม

ในช่วงที่ผ่านมา ความคิดอนุรักษ์นิยมตามหลักศาสนาอิสลามในมาเลเซียแข็งแรงขึ้น และก็มีการบังคับใช้กฎหมายชารีอะห์มากขึ้นด้วย นี่เป็นประเทศที่ใช้หลักกฎหมายแบบสองระบบ และชาวมุสลิมหลายพันคนใช้กฎหมายชารีอะห์ในการหาข้อตกลงในประเด็นครอบครัวและศีลธรรม ส่วนคนที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลามจะถูกควบคุมโดยหลักกฎหมายรัฐ

ในแต่ละวัน เน็นนีย์ ชูไฮดาห์ ต้องเป็นประธานในการพิจารณาความถึง 5 คดี และอาจต้องจัดการคดีความมากถึง 80 คดีในแต่ละสัปดาห์ ตั้งแต่คดีเกี่ยวกับทรัพย์สินไปจนถึงคู่รักที่ไม่ได้แต่งงานซึ่งถูกจับเพราะความประพฤติไม่เหมาะสม

เน็นนีย์ เป็นผู้เชี่ยวชาญประเด็นสิทธิในการดูแลเด็กและการมีคู่ครองหลายคน ผู้ชายมาเลเซียสามารถมีภรรยาได้ถึง 4 คนอย่างถูกกฎหมาย เธอบอกว่ามีหลายปัจจัยที่เธอพิจารณาก่อนที่จะอนุญาตให้ผู้ชายแต่งงานกับผู้หญิงหลายคนได้

“ทุกคดีซับซ้อนและแตกต่างกัน” เน็นนีย์อธิบาย “คุณไม่สามารถจะกล่าวสรุปกฎหมายอิสลามอย่างง่าย ๆ และสรุปเอาว่าผู้ชายปฏิบัติต่อผู้หญิงไม่ดี… ฉันอยากจะแก้ไขความเข้าใจผิดนั้น”

ทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการแต่งงานกับภรรยาหลายคนต้องไปปรากฏตัวที่ศาล เธอบอกว่าอยากจะได้ยินความจากทุกฝ่าย ต้องคุยกับผู้หญิงทุกคนว่าเต็มใจกับการแต่งงานในลักษณะดังกล่าว และจะไม่เซ็นอนุญาตหากมีสัญญาณว่าฝ่ายหญิงไม่เห็นด้วย

“ฉันเป็นผู้หญิง และฉันเข้าใจว่าผู้หญิงส่วนใหญ่จะไม่ชอบไอเดียนี้ แต่มันเป็นไปตามกฎหมายอิสลาม และศาลมาเลเซียมีกฎหมายอย่างเคร่งครัดสำหรับควบคุมเรื่องนี้” เน็นนีย์กล่าว และบอกต่อว่า ผู้ชายต้องแสดงให้เห็นว่าเขาสามารถดูแลสวัสดิภาพของภรรยาคนแรกและคนที่ตาม ๆ มาได้

กรณีหนึ่งที่เธอเคยเจอคือ ผู้หญิงคนหนึ่งป่วยหนักและไม่สามารถมีลูกได้

“ผู้หญิงคนนั้นรักสามีของเธอและอยากให้ฉันอนุญาตให้เขาสามารถมีภรรยาคนที่สองได้ และฉันก็ให้อนุญาต”

เน็นนีย์เห็นว่ากฎหมายอิสลามมีความยุติธรรม แม้ว่าบางฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ว่ากฎหมายอิสลามมีทัศนคติสุดโต่งเกินไป

“เราไม่คัดค้านกฎหมายชารีอะห์หากว่ามันไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง เกย์ คนส่วนน้อย และคนกลุ่มน้อยในสังคม” ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์เอเชีย กล่าว

เธอชี้ว่า ปัญหาคือกฎหมายชารีอะห์ละเมิดประเด็นเหล่านี้อยู่บ่อยครั้ง การอ้างศาสนาไม่เคยเป็นเหตุผลที่รับฟังได้ที่จะละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนนานาชาติ ไม่ว่าจะเรื่องความเท่าเทียมหรือการเลือกปฏิบัติ

ตัวอย่างที่มีให้เห็นเร็ว ๆ นี้คือตัดสินลงโทษเฆี่ยนหญิงมาเลเซียสองคนที่ร่วมเพศกัน เน็นนีย์ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นในเรื่องนี้ แต่บอกว่า “การเฆี่ยนภายใต้กฎหมายชารีอะห์เป็นการให้การศึกษากับผู้ที่กระทำผิดเพื่อที่จะไม่ให้ทำผิดซ้ำอีก”

เน็นนีย์ระบุว่า กฎหมายชารีอะห์ไม่ได้ตัดสินให้ฝ่ายชายถูกอย่างเดียว โดยบอกว่ากฎหมายมีเพื่อปกป้องสิทธิ และดูแลป้องกันสวัสดิภาพของผู้หญิง

“ศาสนาอิสลามให้ความเคารพผู้หญิงอย่างสูง และในฐานะผู้พิพากษา เราต้องยึดหลักการสอนและรักษาไว้ซึ่งคุณค่าด้วยการใช้กฎหมายชารีอะห์”

เน็นนีย์ มีความกังวลเรื่องชายมุสลิมที่เลือกไปแต่งงานต่างประเทศโดยเลื่ยงกฎหมายชารีอะห์ เธอบอกว่า ผู้ชายเหล่านี้จะไม่ได้แต่งงานภายใต้กรอบกฎหมายมาเลเซีย ภรรยาบางคนยินยอมเพื่อปกป้องสามี แต่พวกเขาไม่รู้ว่านั่นอาจเป็นผลเสียต่อตัวเองได้ และ “กฎหมายชารีอะห์มีเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้หญิง และบังคับให้ผู้ชายต้องรับผิดชอบ”

กลุ่มสิทธิสตรีอย่าง “Sisters in Islam” ออกมาชี้ให้เห็นว่าสัดส่วนผู้หญิงในศาลมีน้อย และทำให้ระบบชายเป็นใหญ่แข็งแรง

มาจิดาห์ ฮาชิม โฆษกกลุ่ม Sisters in Islam บอกว่า กฎหมายชารีอะห์ในมาเลเซียไม่เพียงแค่เลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง แต่ยังใส่ความว่าผู้หญิงเป็นที่มาของการผิดศีลธรรมอีกด้วย

เพราะเหตุนี้ การแต่งตั้งเน็นนีย์ เป็นผู้พิพากษาจึงถือเป็นก้าวสำคัญ

“ฉันไม่เคยฝันจะมาเป็นผู้พิพากษา ตอนเป็นทนาย ฉันไม่รู้ว่าจะสามารถทำงานในตำแหน่งสูง ๆ ที่ต้องจัดการกับคดีที่ซับซ้อนได้ ในฐานะผู้หญิง ฉันรู้สึกกลัวและสงสัยในตัวเอง… แต่ในฐานะผู้พิพากษา ฉันต้องมองอะไรอย่างชัดเจนและเป็นกลาง ใช้หลักฐานที่ดีที่สุดในการพิจารณาความในศาล”