ฟังมุสลิมไทยคุยกระแสระแวงอิสลาม

ฟังมุสลิมไทยคุยกระแสระแวงอิสลาม

การลาสิกขาออกจากความเป็นพระของพระมหาอภิชาติ ปุณฺณจนฺโท อดีตหัวหน้าพระวิทยากรประจำพระอารามหลวง วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม โดยมีทางการเข้ามาเกี่ยวข้อง สะท้อนความพยายามของรัฐไทย ที่จะสกัดกระแสหวาดระแวงอิสลามที่พระมหาอภิชาติเป็นหัวหอก ของการแสดงออกตลอดมา โดยเฉพาะกับวาทกรรมให้ชาวพุทธ “เผามัสยิด” ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อตอบโต้การที่พระสงฆ์ในพื้นที่ถูกสังหาร

แม้ในสังคมไทยทั่วไป การแสดงออกถึงความหวาดระแวงอิสลามอาจไม่รุนแรงถึงขั้นกรณีพระอภิชาติ แต่สำหรับชาวมุสลิมในประเทศไทย กระแสนี้ก็สร้างความรู้สึกอึดอัดและแปลกแยกให้เขาไม่น้อย นอกจากนี้ก็ยังวิตกว่าอาจลุกลามไปมากกว่านี้ บีบีซีไทยคุยกับชาวมุสลิมในประเทศไทยว่าอะไรคือต้นเหตุของ กระแสชังอิสลาม หรือ Islamophobia และไทยควรจะรับมืออย่างไรจึงจะไม่กลายเป็นวิกฤต

ฟังมุสลิมไทยคุยกระแสระแวงอิสลาม

อะไรกระตุ้นกระแสระแวงอิสลามในไทย

อ.ซากีย์ พิทักษ์คุมพล อาจารย์ประจำสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ชี้ว่า กระแสชังอิสลาม เป็นกระแสที่เกิดขึ้นมาทั่วโลก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการกระทำของกลุ่มมุสลิมสุดโต่ง เช่น กลุ่มก่อการร้ายที่โจมตีเป้าหมายพลเรือนในโลกตะวันตก เช่น สหรัฐฯ สเปน ฝรั่งเศส ซึ่งส่งผลให้เกิดความระแวงมุสลิมในไทยด้วย

ทว่า อ.ซากีย์ เห็นว่า ปัจจัยภายนอกข้อนี้อธิบายสถานการณ์ในไทยได้ไม่มากนัก เขาชี้ว่าปัจจัยที่มีน้ำหนักต่อกระแสระแวงมุสลิมในไทยมากคือ เหตุไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภายใต้ที่เข้าสู่ปีที่ 14 ข่าวสารที่สื่อกระแสหลักระดับชาติรายงานเหตุการณ์จากนราธิวาส ปัตตานี และยะลา วาดภาพความรุนแรงที่เกิดจากมุสลิม

“ในสามจังหวัดชายแดนใต้ หยิบอะไรขึ้นมาก็ไม่ชัดเท่ากับความเป็นมุสลิม แม้แต่ความเป็นมลายู ตัวก็ไม่หนาเท่าศาสนา และไม่ใช่ประเด็นทางการเมือง ความยุติธรรม หรือเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ ” เขากล่าว

ในห้วงสี่ปีที่ผ่านมา ชุดความคิดที่คล้ายกันนี้ได้กระจายไปทั่วสังคมไทยและสะท้อนออกมาในหลายพื้นที่ เช่น การต่อต้านการก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลที่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีพระภิกษุออกมาตั้งโต๊ะล่ารายชื่อผู้สนับสนุน เหตุผลก็คือไม่อยากให้มีชุมชนมุสลิมในพื้นที่ ในช่วงปี 2558-2559 และในช่วงเวลาใกล้ๆ กัน ชาวบ้าน อ.ภูเพียง จ.น่าน คัดค้านการสร้างมัสยิดในพื้นที่โดยอ้างเหตุว่าสุ่มเสี่ยงต่อการแทรกซึมไม่อยากให้มีปัญหาเหมือนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

นักวิชาการมุสลิมแห่ง ม.สงขลานครินทร์ หยิบยกแนวคิดของ ศ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ มาอธิบายว่าเหตุการณ์เหล่านี้เป็นความพยายามของสถาบันสงฆ์ไทยซึ่งอยากจะเข้ามาต่อติดกับส่วนประชาสังคมอีกครั้งโดยมีประเด็นมุสลิมเป็นหนึ่งใน การเคลื่อนไหว

นอกจากนี้ก็มีกลุ่มพุทธบางกลุ่มที่ตั้งตัวขึ้นเป็นกลุ่มปกป้องศาสนา และหยิกยกประเด็นวัดและพระทางภาคใต้ขึ้นมาเล่น เผยแพร่ข้อมูลทางออนไลน์ส่งต่อกันไปอย่างเป็นระบบโดยมีความตั้งใจจะโจมตีการดูแลศาสนาพุทธของรัฐบาล แต่ผลที่ออกมาก็คือสร้างความหวาดระแวงเพิ่มมากขึ้นในอิสลาม โดยมีอดีตพระมหาอภิชาติเป็นหนึ่งในผู้นำกระแสดังกล่าว

ความระแวงอิสลามออนไลน์

กระแสระแวงถึงเกลียดชังชาวมุสลิมดูเหมือนมีอยู่เกลื่อนโลกออนไลน์ของไทย

“พม่าเห็นตัวอย่างภาคใต้ของไทย พม่าเลยต้องตัดไฟเสียแต่ต้นลม ไม่อย่างนั้น ก็จะแก้ไม่ได้ เหมือน ไทย..”

“ถ้าโรฮิงญาไม่เริ่มก่อความวุ่นวายขึ้นก่อน..ก็อยู่กับพม่าได้…ชอบก่อการร้ายก่อน..ทหารพม่าก็ต้องกวาดล้าง…”

ข้อความข้างต้นนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผู้ที่เข้ามาให้ความคิดเห็นในเฟซบุ๊กของบีบีซีไทย ที่ให้ความชอบธรรมของรัฐบาลเมียนมาในการปราบปรามโรฮิงญา โดยเทียบเคียงกับประสบการณ์ของไทย และนำเอาคำว่า “โรฮิงญา” ไปผูกกับคำว่า “ก่อการร้าย” ซึ่งไปกันกับชุดความคิดอิสลามโมโฟเบียของตะวันตกได้เป็นอย่างดี

ที่มา:www.bbc.com