ธรรมกายลอยลำ ปล่อยศิษย์ปลุกชนวนขัดแย้ง”พุทธ-อิสลาม”

อปพส.เดินเครื่องชนศาสนาอิสลามเต็มสูบ รุกหนักยื่นเรื่องกรรมาธิการฯ สภาผู้แทนฯสอบ เปิดประเด็นยึดครองประเทศไทย จนสำนักจุฬาฯ ออกโรงแจงเข้าใจคลาดเคลื่อน ด้านวัดพระธรรมกายชิ่งไม่เกี่ยวข้องอปพส. คนพื้นที่ยันพุทธ-มุสลิมอยู่ร่วมกันได้ วอนรัฐยุติปัญหาหวั่นเพิ่มความขัดแย้งจนบานปลาย

หนักขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับการเดินหน้ารุกขององค์กรปกป้องพระพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพ(อปพส.) ที่เคลื่อนไหวต่อต้านศาสนาอิสลาม โดยครั้งนี้ได้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรหลายคณะ เมื่อ 18 ธันวาคม 2562 เพื่อขอให้ตรวจสอบพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540 พระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการฮัจย์ พ.ศ.2524 พระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการฮัจย์(เพิ่มเติม) พ.ศ.2559

โดยยื่นหนังสือต่อพลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทยประธาน กรรมาธิการ ปปช. นายไชยา พรหมา ประธาน กรรมาธิการศึกษา จัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ นายไพจิต ศรีวรขาน ประธาน กรรมาธิการการปกครอง และนายสุชาติ อุสาหะ ประธานกรรมาธิการศาสนา ศิลปะวัฒนธรรม การท่องเที่ยวและกีฬา

เพื่อขอให้ตรวจสอบว่าการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ในการปกครองบริหารจัดการงบประมาณแผ่นดิน ถูกต้อง ชอบธรรม มีความเหลื่อมล้ำหรือไม่อย่างไร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ ปกป้องสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ รวมใจชาวพุทธให้เป็นหนึ่งเดียวกันทั่วประเทศ ดูแลและรักษาความถูกต้องเกี่ยวกับภัยพระพุทธศาสนาในทุกพื้นที่ทั่วทั้งประเทศไทย

สำนักจุฬาฯ ออกโรงชี้แจง

วันรุ่งขึ้น 19 ธันวาคม 2562 สำนักจุฬาราชมนตรีได้ออกหนังสือชี้แจงว่า จากกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อความเกี่ยวกับศาสนาอิสลามที่คลาดเคลื่อน จนถึงปลุกกระแสต่อต้านศาสนาอิสลามในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทย โดยเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีการทำร้ายฆ่าคนไทยพุทธ และเชื่อว่าเหตุไม่สงบเกิดจากการใช้มัสยิดและโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามเป็นแหล่งบ่มเพาะเชื้อร้าย และการบิดเบือนประวัติศาสตร์ชาติไทย สร้างความเกลียดชัง แตกแยก จนนำไปสู่ความเกลียดชังประเทศชาติ พร้อมทั้งสรุปว่า เชื้อร้ายดังกล่าวกำลังคืบคลานขยายตัวเข้ามายังภาคอีสาน ภาคเหนือ และทุกจังหวัดผ่านการสร้างมัสยิด

สำนักจุฬาราชมนตรีขอใช้โอกาสนี้ ทำความเข้าใจหลักคำสอนและแนวทางปฏิบัติของมุสลิมต่อสังคมไทย ดังต่อไปนี้

การเชื่อมโยงปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กับ มัสยิด และ สถาบันการศึกษาศาสนาอิสลาม ว่า หากมีสถาบัน 2 แห่งนี้ที่ไหน จะมีความไม่สงบที่นั่น นับเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน

ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ใช่ปัญหาความขัดแย้งทางศาสนาแต่อย่างใด แต่มีรากเหง้ามาจากความขัดแย้งทางการเมือง ประวัติศาสตร์ การดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดในอดีต ความไม่เป็นธรรม ยาเสพติด และธุรกิจผิดกฎหมาย ทั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความพยายามจากคนบางกลุ่มใช้ศาสนาอิสลามเป็นเครื่องมือในการปลุกระดมมวลชน แต่ความพยายามดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จกับคนมุสลิมส่วนใหญ่ที่มีความตระหนักถึงสิทธิ เสรีภาพในทางศาสนาที่ประเทศให้หลักประกันกับประชาชนทุกหมู่เหล่า

มัสยิดจึงเป็นศาสนสถานที่มีหน้าที่ไม่ต่างไปจาก “วัด” ในพุทธศาสนา ส่วนสถาบันการศึกษาเป็นสถาบันที่ทำหน้าที่ในการอบรมบ่มเพาะคุณธรรมและจริยธรรม พร้อมทั้งขัดเกลาจิตใจ และจิตวิญญาณของศรัทธาชนให้ดำเนินอยู่ในแนวทางที่ถูกต้องเหมาะสม

ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนหนึ่งเกิดจากการอ้างคำอธิบายทางศาสนา กล่าวคือ ผู้ก่อความไม่สงบปลูกฝังความคิดว่าประเทศไทยเป็น “ดินแดนสงคราม” ดังนั้น การต่อสู้ของพวกเขาจึงมีความชอบธรรมในทางอิสลาม แต่ในความเป็นจริงแล้ว เป็นการอธิบายที่มีความคลาดเคลื่อนและห่างไกลจากบทบัญญัติศาสนาอิสลามโดยสิ้นเชิง เพราะรัฐบาลไทยให้หลักประกันในสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนาและการประกอบศาสนกิจแก่คนมุสลิมอย่างเท่าเทียม และถือว่าการทำร้ายผู้บริสุทธิ์เป็นบาปใหญ่ตามหลักการศาสนาอิสลาม

ดังนั้น การด่วนสรุปโดยการเชื่อมโยงสถานการณ์ด้วยความเข้าใจคลาดเคลื่อน ไม่มีความเข้าใจเหตุแห่งปัญหาและบริบททางสังคมอย่างแท้จริง มิได้ส่งผลดีต่อความสัมพันธ์ระหว่างศาสนิกทั้ง 2 ศาสนา

ความพยายามเผยแพร่ข้อมูล “แผนการยึดครองประเทศไทย และนำกฎหมายอิสลามมาบังคับใช้กับคนทั่วไปในประเทศไทย” ผ่านกระบวนการทางรัฐสภาและคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด เชื่อมโยงกับการสร้างมัสยิดในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทย จนนำไปสู่การยึดครองประเทศของมุสลิมนั้น ข้อความลักษณะดังกล่าวห่างไกลจากความเป็นจริงมาก

สำนักจุฬาราชมนตรี และสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ในฐานะองค์กรศาสนา ขอเรียนว่ามุสลิมในประเทศไทยมีความภาคภูมิใจที่เกิดมาเป็นคนไทย ดำเนินชีวิตอยู่ภายใต้พระบรมโพธิสมภารของพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ ได้รับสิทธิเสรีภาพในการดำรงตนเฉกเช่นมุสลิมที่ดีพึงกระทำ และขอยืนยันหลักการเคารพความเชื่อซึ่งกันและกัน

คำชี้แจงจากสำนักจุฬาราชมนตรี
คำชี้แจงจากสำนักจุฬาราชมนตรี

ปลุกต่อ-ธรรมกายตีกรรเชียง

แต่เรื่องราวยังไม่ยุติลงเมื่อนายประพันธุ์ กิตติฤดีกุล หนึ่งในคณะทำงานของ อปพส.เพื่อสันติภาพ ได้โพสต์ข้อความเมื่อ 21 ธันวาคม 2562 ว่า ทำไมต้องมีห้องละหมาดใน รัฐสภา ทุกชั้น? ต้องการจะยึดสถานที่ราชการแล้วใช่ไม่? ต้องการให้ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเคยชินกับอิสลาม เป็นอิสลามกันหมด จะได้เผยแพร่อิสลามไปทุกหน่วยงานทั่วประเทศได้ง่ายๆ ใช่หรือไม่? เอาสถานที่ เอาเวลา ของทางราชการมาใช้ส่วนตัว ถูกต้องหรือไม่? ต้องการครอบงำจิตใจคนไทยพุทธให้นับถืออิสลามใช่ไม่? ต้องการทำให้ไทย กลายเป็นรัฐอิสลามแล้วใช่ไม่?

ในวันเดียวกันนั้นทางสำนักสื่อสารองค์กรวัดพระธรรมกายได้ออกแถลงการณ์ว่า วัดพระธรรมกาย ไม่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของกลุ่ม อพปส.
ตามที่ปรากฏข้อมูลข่าวสารถึงความเคลื่อนไหวของกลุ่มองค์การปกป้องพระพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพ (อพปส.) และมีความพยายามนำเสนอเชื่อมโยงสร้างภาพให้เห็นว่าวัดพระธรรมกาย เข้าไปเป็นกลุ่มเดียวกัน มีแนวทางการเคลื่อนไหวและให้การสนับสนุนกลุ่ม อพปส.นั้น

วัดพระธรรมกาย ได้ออกหนังสือชี้แจงประกาศให้สาธารณชนได้ทราบอย่างชัดเจนถึงสองครั้ง คือเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ.2561 และ 5 สิงหาคม พ.ศ.2562 ว่าทางวัดไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง เคลื่อนไหว มีความสัมพันธ์หรือให้การสนับสนุนกลุ่มดังกล่าวแต่อย่างใด

วัดพระธรรมกายเป็นองค์กรศาสนา อยู่ในการปกครองของคณะสงฆ์ไทย ภายใต้การกำกับดูแล ของมหาเถรสมาคม โดยยึดมั่นพระธรรมวินัยและปฏิบัติตามกฎหมายบ้านเมืองมีแนวทางในการเผยแผ่ตามหลักโอวาทปาฏิโมกข์ คือ อนูปวาโท ไม่ว่าร้าย อนูปฆาโต ไม่ทำร้าย ปาฏิโมกเข จ สังวโร สำรวมในพระปาฏิโมกข์

วัดพระธรรมกายปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับ อปพส.
วัดพระธรรมกายปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับ อปพส.

รุกฟ้องผู้ว่าฯ มุกดาหาร

ถัดมา 23 ธันวาคม 2562 นายสายัณห์ สุขจันทร์ ประธานศูนย์พิทักษ์ธรรม และนายตวนอามีน ดาโอ๊ะมารียอ เลขาธิการฯ เข้ายื่นหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร (นายชวน หลีกภัย) ผ่านนายสามารถ มะลูลีม ในฐานะประธานที่ปรึกษาคณะทำงานประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายแทนคุณ จิตต์อิสระ เลขานุการคณะทำงานฯ

เพื่อให้ทางประธานสภาฯ ดำเนินการยับยั้ง ห้ามปรามมิให้ ส.ส.คนใดนำประเด็นเรื่องความขัดแย้งทางศาสนามาพูดกล่าวโจมตีหรือตั้งกระทู้ถามถึงศาสนาใดศาสนาหนึ่ง ซึ่งไม่ตรงตามข้อเท็จจริง อันอาจกลายเป็นปัญหาบานปลายที่อาจก่อให้เกิดความแตกแยกของคนในชาติถึงขั้นรุนแรงได้

จากนั้นในวันเดียวกันชมรมพิทักษ์พระพุทธศาสนาและ อปพส. ได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับปกครองจังหวัดมุกดาหาร ในกรณีการก่อสร้างมัสยิดกลางจังหวัดมุกดาหาร ใน 3 ข้อกล่าวหา ดังนี้ ร้องทุกข์ กล่าวโทษ ม.157 กับปกครองจังหวัดมุกดาหาร ในกรณีปกปิดข้อเท็จจริงในการร้องคัดค้านการสร้างมัสยิด ร้องทุกข์ กล่าวโทษในการนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ และร้องทุกข์ กล่าวโทษ ในการอนุมัติให้สร้างมัสยิดโดยไม่ได้ทำประชาพิจารณ์ ซึ่งขัดกับกฏหมายรัฐธรรมนูญและระเบียบสำนักนายก

24 ธันวาคม 2562 พระมหานพพร ปุญฺญชโย ป.ธ. 9 รอง ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย เข้ายื่นหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีวัดพระธรรมกายไม่มีความเกี่ยวข้องกับ อปพส. ต่อนายสุชาติ อุตสาหะ ประธานคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เพื่อความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ สร้างความเข้าใจที่ชัดเจนและถูกต้องให้กับสาธารณชน กลุ่มองค์กรศาสนาและผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งประธานคณะกรรมาธิการฯได้รับเรื่องและจะนำเข้าหารือในที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯต่อไป

พระมหานพพร ปุญฺญชโย ยื่นหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีวัดพระธรรมกายไม่มีความเกี่ยวข้องกับ อปพส.ต่อประธานกรรมาธิการศาสนา
พระมหานพพร ปุญฺญชโย ยื่นหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีวัดพระธรรมกายไม่มีความเกี่ยวข้องกับ อปพส.ต่อประธานกรรมาธิการศาสนา

เปิดหน้าชน

นับเป็นการรุกคืบครั้งใหญ่ของกลุ่ม อปพส.ที่เปิดหน้าอย่างเป็นทางการในการยื่นหนังสือต่อภาคการเมืองให้ตรวจสอบข้อสงสัยต่าง ๆ ของกลุ่มที่มีต่อศาสนาอิสลาม หลังจากที่กลุ่มนี้หารือกันในเรื่องนี้มาเป็นเวลานาน จนทำให้สำนักจุฬาราชมนตรีต้องออกหนังสือชี้แจงข้อสงสัยต่าง ๆ ให้สาธารณชนรับทราบ

เดิมกลุ่มอปพส.เคลื่อนไหวผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัว เฟสบุ๊กแฟนเพจและไลน์กลุ่ม พยายามตั้งข้อสังเกตุถึงเรื่องการขยายมัสยิดของศาสนาอิสลาม โดยพุ่งเป้าไปที่รัฐบาลว่าให้การสนับสนุน ไปจนถึงความกังวลว่าศาสนาอิสลามกำลังยึดครองประเทศไทย

กลุ่มนี้มีนายอัยย์ เพชรทอง ศิษย์วัดพระธรรมกายเป็นแกนนำหลัก ที่เดินสายปลุกกระแสทั้งเรื่องพระผู้ใหญ่ในวัดพระธรรมกายเป็นไส้ศึกจนพระธัมมชโยต้องถูกดำเนินคดี มาจนถึงเรื่องภัยของพระพุทธศาสนา ที่ไม่พ้นเรื่องข้อข้องใจของศาสนาอิสลาม โดยอิงสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้มาเป็นตัวจุดประกาย

ขณะที่ทางวัดพระธรรมกายได้ออกมาปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับ อปพส.มาโดยตลอดที่มีการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญ

ธรรมกายไม่เกี่ยว?

ด้านหนึ่งคือภาพลักษณ์ของอปพส. ส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เป็นศิษย์วัดพระธรรมกาย แม้จะเคยมีภาพความขัดแย้งกันระหว่างทางวัดกับศิษย์กลุ่มนี้ หากย้อนกลับไปถึงท่าทีของวัดพระธรรมกายนั้นมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับพระพม่า อย่างพระวีระทู ก็เคยเดินทางมาที่วัดพระธรรมกาย อีกทั้งวัดพระธรรมกายและลูกศิษย์ก็เคยให้ความช่วยเหลือองค์กรของพระวีระทู ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าพระในพม่ามีบทบาทเกี่ยวข้องกับความรุนแรงต่อชาวโรฮิงญาที่นับถือศาสนาอิสลามในพม่า

นอกจากนี้วัดพระธรรมกายได้ให้ความช่วยเหลือวัดและพระในพื้นที่ที่เกิดความรุนแรงใน 4 จังหวัดชายแดนนับตั้งแต่เกิดเหตุและยังคงช่วยเหลือมาจนถึงวันนี้

แหล่งข่าวในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้กล่าวว่า ความคุกรุ่นของปัญหานี้เกิดขึ้นมานับตั้งแต่ที่เกิดคดีกับวัดพระธรรมกายที่เกี่ยวพันกับการทุจริตในสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น กลุ่ม อปพส.เคลื่อนไหวแม้จะมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเข้าไปสังเกตุการณ์ แต่ไม่พบการระงับยับยั้งในเรื่องดังกล่าวที่อาจเพิ่มความขัดแย้งของ 2 ศาสนา จนขยายวงเข้าไปสู่เวทีทางการเมือง

คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ไม่ว่าจะเป็นไทยพุทธหรือมุสลิม เราอยู่ร่วมกันได้และมีความเข้าใจที่ดีต่อกัน แต่การปลุกเร้าให้เกิดความไม่เข้าใจต่อกันนั่นไม่ใช่เรื่องที่ดีต่อคนในพื้นที่ จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเข้ามาร่วมกันยุติการเพิ่มความขัดแย้งให้กับคนในพื้นที่