โครงสร้างของศาสนาอิสลาม

โครงสร้างของศาสนาอิสลาม ตามศัพท์เฉพาะของศาสนา ความเชื่อได้ถูกขนานนามว่า รากศรัทธา ของศาสนา ส่วนการปฏิบัติตนในศาสนาเรียกว่า สาขา ของศาสนา ถ้อยคำทั้งสองมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากได้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่าง ความเชื่อ และ การปฏิบัติ จากทรรศนะของอิสลามถือว่า ต้นไม้ไม่อาจดำรงชีวิตอยู่ได้ถ้าปราศจาก ราก ดังนั้น จึงไม่มีการภักดีใด ๆ ที่จะดำรงอยู่ได้โดยปราศจากความเชื่อศรัทธา ขณะเดียวกันไม่มีพรรณไม้ใด ๆ ที่จะกำเนิดผลไม้ได้โดยปราศจากกิ่งก้านอันเป็น สาขา ของต้นไม้ ด้วยเหตุนี้ ความเชื่อศรัทธาจึงไม่มีความหมายอันใด ถ้าปราศจากการปฏิบัติ และการประกอบกรรมดี

ศาสนาได้สอนมนุษย์ให้เป็นผู้มีศีลธรรมจรรยาที่ดีงาม และประพฤติปฏิบัติแต่คุณงามความดีตราบเท่าที่ยังมีชีวิตอยู่ ด้วยเหตุนี้ ศาสนาอิสลามจึงวางอยู่บนหลักคำสอนสำคัญ 3 ประการ ดังนี้

  1. ความศรัทธา
  2. จริยธรรม
  3. การปฏิบัติ

ความศรัทธา ถ้าหากมนุษย์พิจารณาด้วยสติปัญญาและสามัญสำนึก จะพบว่าจักรวาลและมวลสรรพสิ่งทั้งหลายที่มีอยู่รอบตัวเอง พร้อมกับระบบและระเบียบทั้งหมดมิได้อุบัติขึ้นมาด้วยตัวเอง เป็นที่แน่ชัดว่าสิ่งเหล่านี้ได้ถูกอุบัติขึ้นมาโดยพระผู้สร้างผู้ทรงมหิทธานุภาพ และทรงปรีชาญาณยิ่ง พระองค์ได้สร้างจักรวาลที่กว้างใหญ่ไพศาลด้วยอำนาจและความรอบรู้อันไร้ขอบเขต ทรงกำหนดกฎเกณฑ์ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงไว้ทั่วทั้งจักรวาล ทรงบริบาลจักรวาลด้วยระบบที่ละเอียดอ่อน ไม่มีสรรพสิ่งใดถูกสร้างขึ้นมาอย่างไร้สาระ และไม่มีสิ่งใดสามารถหลุดพ้นอำนาจของพระองค์ไปได้

พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเมตตาทรงสร้างมนุษย์ขึ้นมาอย่างประเสริฐที่สุด ฉะนั้น จะเป็นไปได้อย่างไรที่พระองค์จะปล่อยให้มนุษย์ดำเนินชีวิตอยู่ตามลำพัง หรือปล่อยให้สังคมมนุษย์ดำเนินไปตามยะถากรรมของตัวเองที่เต็มไปด้วยภยันตรายต่าง ๆ ซึ่งในที่สุดแล้วชีวิตของพวกเขาก็จะประสบกับความหายนะ และความล้มเหลว เป็นความสงสัยที่อยู่ในใจมาตลอดว่า มนุษย์จะดำเนินชีวิตของพวกเขาอย่างไร พระองค์ทรงขจัดความสงสัยเหล่านั้นด้วยการประทานกฎการปฏิบัติต่าง ๆ ผ่านบรรดาท่านศาสดา (ขอความสันติจากพระเจ้าพึงมีแด่ท่าน) ผู้ปราศจากความผิด ให้มาสอนและแนะนำมนุษย์ไปสู่การปฏิบัติ กฎเกณฑ์เหล่านี้เป็นครรลองสำหรับการดำเนินชีวิต อันเป็นสาเหตุทำให้มนุษย์พบกับความสมบูรณ์อย่างแท้จริง แน่นอน มนุษย์อาจมองไม่เห็นมรรคผล หรือได้รับประโยชน์อย่างสมบูรณ์จากคุณงามความดี พวกเขาไม่อาจมองเห็นผลรางวัล หรือการลงโทษของตนเอง จากจุดนี้ทำให้เข้าใจได้ทันที่ว่าต้องมีสถานที่อื่นอีก อันเป็นสถานที่ตรวจสอบการกระทำของมนุษย์อย่างละเอียดด้วยความยุติธรรม ถ้าเป็นคุณงามความดีมนุษย์ก็จะได้รับรางวัลเป็นการตอบแทน แต่ถ้าเป็นความชั่วก็จะถูกลงโทษไปตามผลกรรมนั้น ศาสนาได้เชิญชวนมนุษย์ไปสู่หลักการศรัทธา และความเชื่ออันสัจจริง พร้อมทั้งพยายามผลักดันมนุษย์ให้หลุดพ้นจากความโง่เขลาเบาปัญญา

จริยธรรม ศาสนาได้สอนว่า ในการดำเนินชีวิตจงเลือกสรรเฉพาะสิ่งที่ดีอันเป็นที่ยอมรับของสังคม จงทำตนให้เป็นผู้ดำรงอยู่ในศีลธรรม พัฒนาตนเองไปสู่การมีบุคลิกภาพที่ดี เป็นคนที่รู้จักหน้าที่ มีความรับผิดชอบ มีความห่วงใย มีความเมตตาปรานี มีความรัก ซื่อสัตย์ต่อผู้อื่น รักษาคำมั่นสัญญา เป็นผู้มีความร่าเริงสดใส มีความยุติธรรม รู้จักปกป้องสิทธิของตน ไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น เป็นผู้ที่มีความเสียสละไม่เห็นแก่ตัว และมั่นใฝ่หาความรู้ ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นคุณสมบัติของผู้ที่มีจริยธรรม ซึ่งความสมบูรณ์ทั้งหมดอยู่ที่ความยุติธรรม

การปฏิบัติ ศาสนาได้สอนว่า กิจการงานต่าง ๆ ที่จะกระทำนั้นต้องมีความเหมาะสมกับตนเอง และสังคม ขณะเดียวกันต้องออกห่างจากการงานที่ไม่ดี และการสร้างความเสื่อมเสียอย่างสิ้นเชิง ส่วนการประกอบคุณงามความดีอื่น ๆ การถือศีลอด นมาซ และสิ่งที่คล้ายคลึงกับสิ่งเหล่านี้ เป็นการแสดงให้เห็นถึงการเป็นบ่าวที่จงรักภักดีและปฏิบัติตามพระบัญชาของพระเจ้า กฎเกณฑ์และคำสอนของศาสนาทำหน้าที่คอยควบคุมความประพฤติของมนุษย์ ทั้งที่เป็นหลักศรัทธา หลักปฏิบัติ และจริยธรรมตามที่กล่าวมาแล้ว การยอมรับและปฏิบัติตามกฎเกณฑ์เหล่านี้ เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้มนุษย์พบกับความสมบูรณ์ เพราะผู้ที่ปฏิบัติตามความถูกต้อง มีจริยธรรมที่ดีงาม มีความประพฤติที่เรียบร้อยเท่านั้น จะเป็นผู้ที่มีชีวิตที่มีความสุขอย่างแท้จริง

Posted in เกี่ยวกับศาสนาอิสลามTagged ศาสนาอิสลาม, หลักคำสอนศาสนาอิสลาม, เกี่ยวกับศาสนาอิสลาม, โครงสร้างของศาสนาอิสลามEdit